วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

TQA ชวนสถาบันอุดมศึกษาไทยไต่เอเวอเรสต์

บทความเกี่ยวกับการจัดการความรู้

วันที่ 8 กันยายน 2552 00:01

การนำรางวัลคุณภาพมาใช้บริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษา ต้องมุ่งเน้นการมองตัวเอง พัฒนาปรับปรุงตัวเอง อย่าพยายามพุ่งเป้าไปที่การแข่งขันกับคนอื่น

นี่คือคำกล่าวของ "ศาสตราจารย์ ดร.หลุยส์ มา.อาร์ คาลินโก" คณบดีของคณะบริหาร ธุรกิจ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา ในงานเสวนาเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

เนื่องจาก สกอ.สนใจนำรางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award - TQA มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานโลก

ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นต้นแบบ เป็น Best Practice ในเรื่องนี้ เพราะรางวัลคุณภาพแห่งชาติของเขาหรือ Malcolm Baldrige National Quality Award - MBNQA นั้นมีองค์กรทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ไม่ว่าภาครัฐ และเอกชน

และศาสตราจารย์ ดร.หลุยส์ มา.อาร์ คาลินโก เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตรวจประเมินเกณฑ์รางวัล MBNQA ที่ว่านี้

เขาเล่าให้ฟังว่าที่สหรัฐอเมริกาในช่วงเริ่มต้นก็ไม่ได้น้อยหน้า ด้วยมีความท้าทายอย่างมากในแง่ของการนำเอา MBNQA เข้ามาบริหารจัดการภายในรั้วสถาบันอุดมศึกษา

ประการแรก คือ ในขณะที่มีทรัพยากรลดน้อยลงแต่ต้องตอบสนองความต้องการซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น

ประการที่สอง คือ การสร้างความเชื่อมโยงวัฒนธรรมของกลุ่มอาจารย์ กับ วัฒนธรรมของกลุ่มผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา

"ผมเริ่มงานในฐานะอาจารย์ต่อมาก็อาสาทำงานในส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยด้วย แต่เพื่อนอาจารย์ของผมหลายคนมองว่าผมเสียสติไปแล้ว

เนื่องจากผมสละวันหยุดช่วงปิดภาคเรียนเพื่อทำงานอย่างหนัก และภายหลังผมยังสมัครชิงตำแหน่งคณบดีอีกด้วย ในอเมริกามีคำกล่าวที่ว่าเมื่อคุณได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัย เท่ากับว่าคุณได้ก้าวเข้าสู่ด้านมืดของการทำงานเรียบร้อยแล้ว"

ด้วยความเชื่อว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนถือเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัย ส่วนผู้บริหารเปรียบเสมือนเป็นงานที่อยู่อีกฝั่งฟาก หรืออยู่คนละขั้วเลยทีเดียว

ประการที่สาม คือ การเรียนรู้การจัดการที่เป็นเลิศจากองค์กรอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกวงการการศึกษา

"มหาวิทยาลัยนั้นได้รับความยอมรับว่าเป็นแหล่งรวมของผู้รู้ ผู้ที่เป็นนักการศึกษาจึงเชื่อว่าเขานั้นรู้และเชี่ยวชาญทุกอย่าง ทั้งมีความสามารถที่จะดำเนินโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมักไม่ยอมรับความคิดของคนอื่น"

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือสถาบันการศึกษาหลายแห่งเลยประสบปัญหา "Not Invented Here" ซึ่งหมายถึง "อะไรก็ตามที่สำเร็จมาจากที่อื่นเราไม่ได้คิดค้นมันขึ้นมาด้วยตัวเอง ดังนั้นเราก็คงไม่สามารถใช้องค์ความรู้นั้นได้"

ประการที่สี่ คือ การตอบสนองต่อการวิพากษ์ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของมหาวิทยาลัย เนื่องจากสถาบันการศึกษาต้องดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ด้วยมีหน้าที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีคุณภาพและคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ประการสุดท้าย ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.หลุยส์ มา.อาร์ คาลินโก บอกว่าเป็นความท้าทายใหม่ที่สถาบันการศึกษาพึงตระหนัก ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมของการปรับปรุง การสร้างวัฒนธรรมของการวางแผน การสร้างวัฒนธรรมของการประเมินตนเอง

"เราต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าการบริหารจัดการของเรามีคุณภาพเพียงพอหรือยัง อีกทั้งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำด้วย"

เขาอ้างถึงหนังสือชื่อ Built to Last เขียนโดยจิม คอลลินส์ในปี 1994 ที่ทำการศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จใน การบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์ขององค์กร (Visionary Organization) โดยเปรียบเทียบกับองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จ และพบว่ามีปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกัน

ปัจจัยนี้เรียกว่า BHAG ย่อมาจาก Big, Hairy, Audacious และ Goal ซึ่งหากเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะมี BHAG ครบอยู่ทุกตัว และมีไว้เพื่อตอบคำถามสำคัญ 3 ประเด็น คือ

1. อะไรคือความมุ่งมั่นขององค์กร ซึ่งก็คือ ค่านิยมหลักในการทำงานขององค์กร สำหรับองค์กรการศึกษาแน่นอนว่าการเรียนรู้ย่อมต้องเป็นหนึ่งในค่า นิยมหลักที่สำคัญ และการสร้างคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำงานในสังคม

2. อะไรคือตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สำหรับสถาบันการศึกษาก็คือ ยอดของการลงทะเบียนเข้าเรียน

3. อะไรคือสิ่งที่สถาบันการศึกษาสามารถทำได้ดีที่สุด ประเด็นนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร แม้ว่าจะอยู่ในธุรกิจแบบเดียวกันก็ตาม

ศาสตราจารย์ ดร.หลุยส์ มา.อาร์ คาลินโก ยกตัวอย่างว่าหากเปรียบทุกองค์กรมียอดเขาเอเวอเรสต์ของตัวเองที่ตั้งไว้เป็นจุดหมายที่จะปีนป่ายไปให้ถึง ทั้งที่รู้ว่ายากที่จะปีน ยากที่จะสำเร็จ และต้องใช้ทรัพยากรมาก และที่สุดอาจเป็นไปไม่ได้ก็ได้

ซึ่งคำว่า วิสัยทัศน์ (Vision) มีความเกี่ยวเนื่องกับความฝัน (Dream) แล้วความฝันก็เชื่อมโยงไปถึงคำว่าภาพลวงตา (Hallucination)

"แต่สำหรับองค์กรที่มี BHAG วิสัยทัศน์ก็คือความฝันที่มาพร้อมกับหนทางและระเบียบวิธีปฏิบัติที่จะนำให้บรรลุความฝันนั้นได้ หากเปรียบว่าเราอยู่ที่ ฐานของภูเขาเอเวอเรสต์ ที่บริเวณฐานนี้จะมีธงสวดมนต์ร้อยเป็นสายโยงอยู่ทั่วไป ธงเหล่านี้ก็เขียนคำอธิษฐานไว้ต่างๆ มากมาย ดังนั้น ก่อนปีนเขา เราก็ต้องเขียนคำอธิษฐานและบันทึกจัดเก็บอย่างมีระบบ เมื่อเราเริ่มปีนสู่ยอดเขา เราก็จะได้เรียนรู้ว่าเส้นทางไหนเป็นเส้นทางที่พาไปสู่ยอดได้ ระยะเวลาและระยะทางที่จะใช้ในการปีนก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่องค์กรนั่นเอง"

ซึ่งเขาเชื่อว่าหากนำเอารางวัลคุณภาพเข้ามาใช้บริหารจัดการไม่ว่าองค์กรธุรกิจหรือสถาบันอุดมศึกษาล้วนก้าวเป็นองค์กรแบบ BHAG ได้ทั้งสิ้น

และหัวใจสำคัญของ MBNQA (เกณฑ์ประเมิน 7 หมวดเช่นเดียวกับ TQA) ก็คือการเน้นมองตัวเอง หาทางพัฒนาและปรับปรุงตัวเองเป็นหลัก

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20090908/74761/TQA-ชวนสถาบันอุดมศึกษาไทยไต่เอเวอเรสต์.html

ไม่มีความคิดเห็น: